วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Pique(ปีเก้) หรือ Lacoste (ลาคอส) อันไหนแน่

มาต่อกันเรื่องผ้ากันต่อยังไม่ยอมให้จบง่าย ๆ หรอกนะวันนี้ก็มาว่ากันในเรื่องของผ้าในกลุ่ม knit กันต่อ

มาว่ากันด้วยเรื่องของผ้า pique หรือ lacoste กัน เราอาจเคยเห็นผ้าชนิดนี้แต่ไม่เคยสนใจมัน ซึ่งถ้านึกลักษณะไม่ออกขอให้นึกถึงเสื้อคอโปโลยี่ห้อ lacoste (ไอ้เข้หันหัวออกนะจ๊ะถ้าหัวหัวเข้าตัวก็ตัวใครตัวมัน) ผ้า lacoste  ตัวนี้ เกิดจากการถักทอลายของผ้า โรงทอผ้าในประเทศไทยจะเรียกว่า ผ้า pique   เพราะตัวผ้าของ lacoste ได้จดลิขสิทธิ์การทอไว้ห้ามลอกเลียนแบบ โรงทอในเมืองไทยเลยต้องทอผ้าในลักษณะใกล้เคียงกันและเรียกผ้าชนิดนั้นว่าผ้า pique (ผมไม่กล้ายืนยันแบบ 100% แต่ได้รับการบอกเล่าจากพวก sellman ของโรงงานทอผ้าที่ได้นำผ้าชนิดนี้มาเสนอขายให้ที่บริษัท) แต่ถ้าอยากทราบข้อแตกต่างระหว่างผ้า pique กับผ้า lacoste ก็ลองเอาเสื้อโปโลยี่ห้อ lacoste (ของแท้นะจ๊ะไม่ใช่แถวจตุจักร)กับเสื้อ Polo ไทย brand (เช่นยี่ห้อ GQ,Arrow)( Arrow  นั้นไทยซื้อลิขสิทธิ์มาออกแบบตาม concept ที่ได้รับมาจากเมืองนอก ) มาเทียบกันดู มันจะต่างกันที่รูน่ะ(หมายถึงรูในผ้านะ โฮ่ ๆ ๆ ) แต่สำหรับผมแล้วนอกจากวิธีการทอแล้วคุณสมบัติอย่างอื่นก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่(สงสัยไทยก็อปเก่งนิ)
ตัวนี้น่ะจะเป็นไอ้เข้
ตัวนี้ลูกศร
เส้นด้ายที่ใช้สำหรับการทอโครงสร้างผ้าตัวนี้มีตั้งแต่ 100 % cotton ,t/c, t/k,และเส้นด้าย top dyed(เรื่องชื่อย่อกลับไปอ่านบทความก่อนหน้านะจ๊ะ)
ส่วนเบอร์ของเส้นด้ายจะมีตั้งแต่ number 32/1,32/2,20/1 แต่ก็อาจจะมีบาง brand ที่ใช้เส้นด้าย number 40/1,40/2 ด้วยก็ได้ ทอได้ทั้งลักษณะ peach dyed และ  yarn dyed น้ำหนักมาตรฐานจะอยู่ที่ 175-220 gram/sqm ขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นด้ายที่สั่งโรงงานทอ ส่วนแบบที่ fashion designer นิยม design (ออกแบบ) สำหรับโครงสร้างผ้าตัวนี้ ได้แก่ แบบเสื้อ Polo, T-shirt  ซึ่งแทบจะเป็นโบโก้ของแบบผ้าชนิดนี้เลยที่เดียวเชียว และบางทียังทำเป็นเสื้อ Polo แขนกุด สำหรับผู้หญิง และยังทำเป็น short dress ได้อีกด้วย แต่ถ้าจะนำไปออกแบบเป็น T-shirt คอกลมหรือคอวีก็ได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใดทั้งไม่ถูกประณามจากชาวดาวอังคารอีกด้วย(ก็พวกมันอยู่นอกโลกนี่นา) แต่ไม่แนะนำให้ทำกระโปรงยาวและกางเกง เพราะน้ำหนักผ้ามากเกินไปเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
สำหรับคนที่ซื้อเสื้อที่ใช้ผ้าชนิดนี้ แล้วเกิดการขึ้นขุย จะเป็นผ้าประเภท  t/c,t/k แต่ถ้าเป็นผ้า cotton 100% จะไม่ขึ้นขุยหรือถ้ามีก็น้อยกว่ามากแต่หากใช้ไปนาน ๆ หลายปี ก็อาจจะบางลงแต่ว่าไม่เป็นขุยจ้ะ อ้อทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการ finishing (หมายถึงขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำผ้ามาขายหรือวางมาร์คตัดหลังจากที่ทอผ้าเสร็จแล้ว)ว่าจะสั่งแบบไหน เดี๋ยวมาว่ากันต่อเรื่องผ้า Jacquard  กันต่อบทความหน้า

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วยเรื่องของผ้า knit (ผ้าถักหรือที่เรียกว่าผ้ายืดโดยทั่วไป) ภาคสอง

         1.5 Rib 1x1 (เส้นด้ายเบอร์ 32)หมายถึงผ้าที่ทำการทอโดยการชักร่องของเส้นด้าย หนึ่งต่อหนึ่งช่อง ผ้าชนิดนี้ก็พวกใช้ทำเป็นช่วงคอของเสื้อยืดคอกลมหรือคอวี หรือไม่ก็ทำขอบแขน อย่าได้ริอาจสาระแน นำผ้าชนิดนี้ ไปออกแบบทำเสื้อหรือกางเกงโดยเด็ดขาด
           1.6 Rib 2x2(เส้นด้ายเบอร์ 20) หมายถึงการชักร่องของเส้นด้าย สองต่อสองนะคล้ายกันกับแบบแรก น้ำหนักมาตรฐานของผ้าชนิดนี้จะอยู่ที่ประมาณ 165-175 gram/sqm  ซึ่งจะนำไปออกแบบทำเสื้อรัดรูปทุกชนิด  และถ้าต้องการให้มีการยืดหยุ่นหรือการสปริงตัวเพิ่มมากขึ้น เวลาที่เราจะสั่งผ้ามาทำก็อาจจะใช้เส้นด้าย spandex (เส้นด้ายสำหรับไว้ทำชุดว่ายน้ำ) ผสมเข้าไปด้วยอีกเส้นก็ได้ เพื่อเพิ่มการสปริงตัวของผ้าให้ดีขึ้นแต่ราคาก็จะสูงขึ้นเท่าตัว โดยสั่งไปที่โรงงานทอผ้าได้เลย(ดังนั้นเวลาจะสั่งผ้าชนิดนี้สั่งว่า Rib 2x2 spandex  one way) จะเอากี่โลก็ว่ากันไป (ผ้าสำหรับผลิตทีละเยอะๆ เขาสั่งกันเป็นกิโลนะจ๊ะ)
           1.7 ผ้า 32/1,20/1 Spandex (two way) โครงสร้างผ้าชนิดนี้จะประกอบด้วยเส้นด้าย cotton 100 % ผสมกับเส้นด้าย spandex สามารถทำลายพิมพ์บนผ้าเลยก็ได้หรือผ้าพื้นธรรมดาก็ได้ เหมาะสำหรับทำเสื้อรัดรูปหรือ Body suit (ชุดว่ายน้ำ) กางเกงรัดรูปทั้งขาสั้นยาว หรือ dress รัดรูป หรือเสื้อผ้ารัดรูปแบบอื่น ก็ได้ ซึ่งคุณสมบัติที่ดีของผ้าชนิดนี้คือสามารถยืดได้ทั้งด้านกว้างและด้านยาว
           1.8 Top dyed คือผ้าที่ทอด้วยเส้นด้ายที่จะออกเป็นกระไม่ใช่สีเดียวกันทั้งเส้น แต่ก็ทอผ้าเป็นแบบ knit ซึ่งจะแตกต่างจากเนื้อของ cotton single jersey ตรงที่ว่าตัว single jersey การ peach dyed ส่วนตัว top dyed นั้นเส้นด้ายจะออกสีกระผ้าก็ออกมาสีกระทั้งตัว ซึ่งโครงสร้างจะไม่ต่างจาก single jersey นักเพราะเส้นด้ายจะใช้เบอร์ 32/1,20/1 เหมือนกัน แต่จุดเด่นคือไม่ต้องย้อมสีอีก ซึ่งก็ทำออกมาทุกสีนั่นแหละแต่ว่าสีที่นิยมทำตัวนี้คือสีเทาอ่อนจนถึงเทาเข้ม เหมาะในการใช้ออกแบบT-shirt ในกลุ่ม basic colour นอกจากจะเป็น cotton 100 % แล้วยังมีโครงสร้างที่เป็น t/c อีกด้วยแต่ทั้งนี้ผมไม่แนะนำให้นำมาใช้เพราะระบายอากาศไม่ค่อยดีทำให้ร้อนมากไม่เหมาะสำหรับประเทศเมืองร้อน แต่เมืองหนาวเขาทำกันตรึม
เรื่องของผ้าแบบ jersey นั้นคงว่ากันเพียงเท่านี้ นี่เป็นเพียง basic เท่านั้นนะจ๊ะ ที่ชาวเหล่า fashion designer แบบลูกจ้างทำเสื้อผ้าออกมาขายทีละเยอะๆ หรือพวก mass product เขาทำกันนั่นเอง แต่หากเป็นประเภท ห้องเสื้อ(boutique) หรือ brand ดังๆ ก็จะใช้ผ้าที่ดีกว่าที่กล่าวมาแล้วก็ได้แต่ผมเท่าที่เคยได้ทำมาในสารบบของ mass product แล้ว ใช้ผ้า jersey  เพียงแค่นี้ ก็เหลือจะทำแย้ว

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วยเรื่องของผ้า knit (ผ้าถักหรือที่เรียกว่าผ้ายืดโดยทั่วไป)

          knit (ผ้าถักหรือที่เรียกว่าผ้ายืดโดยทั่วไป) 
ซึ่งจะประกอบด้วย โครงสร้างผ้าประเภท  cotton(ผ้าฝ้าย) ,T/C ( Cotton ผสม Polyester ) , T/K หรือ TK ผ้าใยสังเคาะห์ แล้วก็มาทอแบบ knit ซึ่งผ้าแบบ Knit นั้นก็มาแบ่งย่อยได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งจะแยกย่อยออกตามเบอร์ของเส้นด้ายที่นำมาทอวิธีการทอและน้ำหนักผ้า ซึ่งแบ่งได้ตามโครงสร้างดังต่อไปนี้
          1. jersey เป็นผ้ายืดที่เรามักจะมาทำเป็น T-shirt ตามท้องตลาดทั่วไป แถวโบ๊เบ๊หรือไม่ก็ประตูน้ำ  ถ้านึกไม่ออกก็นึกถึงเสื้อยืดที่มีลายพิมพ์ที่หน้าอกหรือที่อื่นหรือจะไม่มีลายเป็นผ้าสีเดียวเลยก็เหมือนกัน จะยี่ห้ออะไรก็ตามแต่ ซึ่งแบ่งได้ตามน้ำหนักและเบอร์ของเส้นด้าย


น้ำหนักและเบอร์ของเส้นด้าย
           1.1 single jersey 32/1(หมายถึงเส้นด้ายเบอร์ 32 ส่วน /1หมายถึงทอเส้นเดี่ยว(เส้นเดี่ยวหมายถึงทอผ้าโดยใช้ด้ายเส้นเดียวในการทอ))  สำหรับผ้า single jersey 32/1 น้ำหนักมาตรฐานจะอยู่ที่ 155-165 gram(glm) /sqm ซึ่งวิธีการชั่งน้ำหนักผ้าจะใช้วิธีใช้เครื่องปั๊มแกรมที่เป็นวงกลมตัดผ้าออกมาแล้วนำไปชั่งไม่ได้ตัดผ้าออกมาเป็นตารางเมตรแล้วนำไปชั่งนะจะเออ ถ้าน้ำหนักเบาก่วานี้มักจะมีปัญหาในการยืดหดตัวหรือย้วยชายได้ตอนตัดเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป แล้วตอนวาง marking ตัด ถ้าน้ำหนักได้ตามมาตรฐานจะ marking  ตัด T-shirt ได้ 4 ตัวต่อกิโล โดยประมาณ แล้วเวลาที่สั่งผ้าชนิดนี้ อย่าสั่งผ่าผ้าก่อน finishing  วิธีการสั่งคือ single jersey 32/1 Fully comb  ซึ่ง single jersey 32/1 นั้นเหมาะกับ รูปแบบประเภท คอกลม คอวี หรือว่าปาด  แขนสั้นหรือแขนกุดก็ได้ หรือแบบ T-shirt , innerwear พวก boxer และโครงผ้าจะออกมาเป็นทรงหลวม อย่าทำเป็นทรงรัดรูปเด็ดขาดเพราะไม่เหมาะ ซึ่งมี fashion designer ปัญญานิ่มบางคน นำผ้า single jersey 32/1 ไปออกแบบทำเป็นผ้ารัดรูป ซึ่งผลที่ออกมาก็เละสิครับ
          1.2.single jersey 32/2  ถ้าในระบบ mass product มักจะหลีกเลี่ยงการใช้ เพราะว่าจะทำให้ต้นทุนสินค้าแพงขึ้นโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าเป็น international brand หรือ Famous brand อาจจะเลือกใช้ผ้าชนิดนี้ได้เพราะว่ามันจะหนากว่าและดีกว่า
          1.3.single jersey 20/1 น้ำหนักมาตรฐานจะอยู่ที่ 165-175 gram/sqm วิธีการสั่งผ้าก็วิธีการเดียวกันกับการสั่งผ้า single jersey 32/1 ให้ปริมาณเสื้อ ได้ประมาณ 3.5 ตัว ต่อกิโล โดยเฉลี่ย สำหรับแขนสั้น รูปแบบที่ใช้ก็ คอกลม คอวี คอปีน แขนสั้นแขนยาวแขนกุดก็ได้ แบบผ้าจะเป็นแบบลายพิมพ์หรือลายปักก็ได้และโครงสร้างผ้าชนิดนี้ยังสามารถทำเป็นแบบ peach dyed หมายถึงการทอผ้าแล้วนำไปย้อมสีทีหลัง หรือว่าอีกแบบก็ yarn dyed หมายถึงการย้อมเส้นด้ายก่อนนำไปทอ ซึ่งอาจทำเป็นลายริ้วหรือ ลาย stripe นั่นเอง
          1.4.Double knit 20/2  หรือก็คือผ้า jersey นั่นเองแต่เหตุผลที่เรียกว่า Double knit  20/2 เพราะว่าถ้าทอออกมาแล้วด้านหน้ากับด้านหลังจะออกมาเหมือนกัน อยากจะเรียกว่า double jersey เหมือนกันแต่ว่าไม่มี ดีไซเนอร์คนไหนเขาเรียกกัน และในวงการก็ไม่มีใครกระแดะเรียกซะด้วยหากเผลอเรียกไปคงโดนประณามแน่ๆ ปกติผ้า jersey ทั่วๆ ไปนั้น ทอออกมาแล้วผ้าสองด้านจะไม่เหมือนกันด้านหนึ่งจะดีส่วนอีกด้านก็จะไม่ค่อยดีแต่ถ้าสั่งแบบนี้มันจะออกมาเหมือนกันทั้งสองด้าน การสั่งผ้านี่หมายถึงการคุม project แล้วสั่งผ้าจากโรงงานให้โรงงานตัดเย็บเลยนะครับ  ซึ่งน้ำหนักมาตรฐานของโครงสร้างผ้าชนิดนี้จะอยู่ที่ 175-185 gram/sqm โครงสร้างผ้าชนิดนี้ เหมาะสำหรับการออกแบบในช่วงฤดูหนาวซึ่งเมืองไทยไม่ค่อยหนาวนานก็ไม่ค่อยได้เห็นกันเท่าไหร่แต่เมืองหนาวก็จะเยอะแหละ design อาจใกล้เคียงกับ single jersey 20/1 แต่จะทำเป็นแขนยาวซะมากกว่า และนอกจากนี้ยังสามารถ design เป็นแบบ dress และ short-skirt, long-skirt, mini-skirt  ได้หมด ด้วยน้ำหนักของผ้าที่มากกว่าและนุ่มกว่า เดี๋ยวก่อนจะรีบไปไหนยังไม่จบจะเดี๋ยวมาว่ากันต่อบทต่อไป รูปยังไม่ได้ลงให้ดูนะขอเวลาหาก่อน

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Fabrics โครงสร้างผ้า

Fabrics (โครงสร้างผ้า)
ถ้าหากว่าคุณคิดจะเป็น fashion designer เก่งๆ ในสารบบ mass product นอกจากจะมี idea ที่ดี มีฝีมือที่ดีในการวาดภาพแล้ว คุณควรจะรู้จักโครงสร้างผ้าชนิดต่าง ๆ ในสายงานของคุณ พยายามศึกษาคุณสมบัติของโครงสร้างผ้าแต่ละชนิด และ design เสื้อผ้าแต่ละแบบให้เหมาะสมกับโครงสร้างผ้านั้น ๆ ด้วย เพราะ fashion designer บางคนที่เป็น fashion designer ออกแบบเสื้อผ้าได้สวยมาก วาดรูปออกมานี่อย่างเทพ แต่พอจะเอาแบบมาทำกับเสื้อผ้ากลับไม่เหมาะสมกับโครงสร้างผ้านั้นๆ แทนที่งานจะออกมาดูดีก็กลับกลายว่าเป็นงานที่ดูแย่มาก ๆ มันจะทำให้คุณเป็นได้แค่คนวาดตุ๊กตาวาดการ์ตูนได้ดีเท่านั้นเอง หากไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้างผ้าแล้วเราจะออกแบบเสื้อผ้าให้สวยงามได้อย่างไร หากไม่รู้จักวัสดุที่จะนำมาใช้กับงาน นี่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ fashion designer ที่ดีควรมีติดตัวไว้
ซึ่งโครงสร้างผ้านั้นก็แยกได้สองแบบคือ แบ่งตามลักษณะการถักทอ และแบ่งตามเนื้อผ้าหรือเส้นใยผ้า

ถ้าแบ่งตามลักษณะการทอนั้นจะแบ่งออกได้เป็นสามประเภทสำหรับผ้าที่คนทั่วไปรู้จัก คือ
1.     1.knitted fabrics (ผ้าถักหรือที่เรียกว่าผ้ายืดโดยทั่วไป)
2.     2.woven fabrics (ผ้าทอ)
 3.ผ้าที่ไม่ทอและถักหรือมีวิธีการผลิตอย่างอื่น


แต่สำหรับโครงสร้างผ้าสำหรับfashion designer ในหมวดของ mass product ส่วนใหญ่แล้ว ที่ใช้กันจริงๆ จะประกอบด้วย
ผ้า
ผ้า knit แบบ single jersey(ด้ายเดี่ยว)


เครื่องทอผ้า Knit
1.     knitted fabrics (ผ้าถักหรือที่เรียกว่าผ้ายืดโดยทั่วไป) ซึ่งเรียกตามลักษณะการทอนั่นเอง knit  เป็นผ้าที่เกิดจากลักษณะการทอผ้าชนิดนี้ซึ่งจะทอในลักษณะใช้เข็ม (needles) ถักเพื่อให้เกิดเป็นห่วงของด้ายที่มีการสอดขัดกัน (interlocking loops) โดยจะมีเส้นที่อยู่แนวตั้ง (Wales) และเส้นที่อยู่ในแนวนอน (courses)เป็นเส้นด้ายร้อยกันไปมาและทอ(แบบถัก)ขึ้นรูปเป็นวงกลมโดยใช้เครื่องทอผ้าแบบวงกลมซึ่งจะได้เสื้อที่ออกมาไม่มีรอยตัดด้านข้างตัวมีลักษณะเหมือนผ้าถุงหรือโสร่งที่ไม่มีรอยเย็บด้านข้าง
2.     woven fabrics (ผ้าทอ)เป็นผ้าที่เกิดจากกระบวนการทอโดยใช้เครื่องทอ (weaving loom)หรือกี่นั่นเอง โดยมีเส้นยืน (warp yarn) และเส้นพุ่ง (filling or weft yarn) ที่ทอขัดในแนวตั้งฉากกัน และจุดที่เส้นทั้งสองสอดประสานกัน (interlacing) จะเป็นจุดที่เส้นด้ายเปลี่ยนตำแหน่งจากด้านหนึ่งของผ้าไปด้านตรงข้าม การทอในปัจจุบันมีการพัฒนา จากการทอด้วยมือ (hand looms) ไปเป็นการใช้เครื่องจักรในการทอ โดยใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบ แตกต่างกัน เช่น Air-jet loom, Rapier loom, Water-jet loom, Projectile loom, Double-width loom, Multiple-shed loom, Circular loom, Triaxial loom เยอะแยะมากมายแต่เราเหล่าfashion designer ไม่ต้องไปสนใจเราสนใจแค่การออกแบบกับการเลือกผ้ามาใช้ก็พอแย้ว
3.     denim (ที่เหล่าคนบ้านๆ ทั่วไปเรียกว่ายีนส์แต่สำหรับfashion designerแล้วจะเรียกเสื้อหรือกางเกงที่ตัดด้วยผ้าชนิดนี้ว่า denim หรือ five pocket อย่างนี้นี่เอง)

ถ้าแบ่งตามลักษณะเนื้อผ้านั้นจะแบ่งออกได้เป็นสามประเภทเช่นเดียวกันสำหรับเนื้อผ้าที่คนทั่วไปรู้จัก คือ
1.ผ้าฝ้าย (cotton)
นิยมใช้ทำเสื้อชนิดต่างๆ มีราคาค่อนข้างสูง สมบัติทั่วไปของผ้าฝ้ายก็คือ สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี
ซับเหงื่อได้ดีเยี่ยม เนื้อผ้าจะมีลักษณะด้าน แต่ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน คือมันจะยับง่าย เมื่อซักบ่อยๆ ก็จะย้วย
2.ผ้าฝ้ายผสมกับผ้าใยสังเคาะห์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าผ้า T/C หรือ TC
เป็นผ้าที่มีส่วนผสมเป็นใยสังเคราะห์ และนำเนื้อฝ้ายเข้ามาผสมรวมด้วย
คุณสมบัติก็จะอยู่กลางระหว่างผ้า cotton กับผ้า TK ผ้าชนิดนี้นิยมทอผ้าให้มีลักษณะเป็นรู
เนื่องจากผ้าประเภท TK และ TC มีสมบัติในการระบายอากาศที่ไม่ค่อยดีนัก การทอผ้า
จึงนิยมทอผ้าให้มีรูเล็กๆ เพื่อช่วยระบายอากาศ และเพื่อความสบายในการสวมใส่เนื้อผ้า
จะมีลักษณะความมัน (น้อยกว่า TK)
3.ผ้าใยสังเคาะห์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าผ้า T/K หรือ TK
เป็นผ้าที่มีส่วนผสมหลักเป็นใยสังเคราะห์ เนื้อผ้าจะมีลักษณะมันคุณสมบัติ ทั่วๆไป คือ ผ้า TK จะไม่ค่อยยับ อยู่ทรง ไม่ย้วย สีไม่ตกแต่ข้อเสียก็คือเสื้อที่ทำจากผ้า TK ใส่แล้วจะร้อนเนื่องจากระบายอากาศไม่ดีผ้า TK จึงนิยมทอ ให้มีลักษณะเป็นรูเช่นกัน ทนทานหาได้ง่ายและวางขายตามท้องตลาด เดี๋ยวมาว่ากันเรื่องเบอร์และน้ำหนักของผ้าแต่ละชนิดในบทความหน้าครับ แหมวางภาพลำบากมากในบล็อกเลยไม่ค่อยมีตัวอย่างให้ดู